การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

:Preterm Labor Pain

ความหมาย
สาเหตุ แนวทางการรักษา
การยับยั้งด้วยยา
แนวทางการดูแล
การพยาบาล
แบบแผนสุขภาพ
บรรณานุกรม

Nursing Care for Pregnant's Woman !

* So sorry if you cannot read Thai font!


ความหมาย:

       การเจ็บครรภ์คลอดระหว่างอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ถึงก่อน 37 สัปดาห์หรือ 259 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนปกติครั้งสุดท้าย

Top !


สาเหตุ :

       สาเหตุที่แน่นอนของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบร่วมกับปัจจัยชักนำหลายอย่าง ( Creasy,1994 :539 ) ที่อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด พอสรุปสาเหตุที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

        1. สาเหตุเบื้องต้น ( Predisposing factors )

                   1.1 เศรษฐฐานะและภาวะทางสังคมต่ำ (low socioeconomic status )

                        1.1.1 ยากจน ( poor status )

                        1.1.2 ด้อยการศึกษา ( low education )

                        1.1.3 ทุพโภชนาการ ( malnutrition )

                   1.2 ลักษณะและอุปนิสัยเฉพาะของสตรีตั้งครรภ์ ( demographic and behavioral risk factors )

                        1.2.1น้ำหนักตัวน้อยก่อนการตั้งครรภ์ ( poor weight gain )

                        1.2.2 อายุสตรีตั้งครรภ์น้อยกว่า 16 ปีหรือมากกว่า 40 ปี ( age : less than 16 or more than 40 )

                        1.2.3 ไม่ใช่คนผิวขาว ( non white )

                        1.2.4 สูบบุหรี่ มากกว่า 10 มวนต่อวัน ( smoking )

                        1.2.5 เสพยาเสพติดชนิดต่าง ๆ ( drugs addiction )

                        1.2.6งานอาชีพที่ต้องใช้กำลังกายหรือกำลังความคิดมากเกินไป ( physiological or psychological stress )

                        1.2.7 ตั้งครรภ์โดยไม่ปรารถนา ( unwanted pregnancy )

                        1.2.8 ไม่รับการฝากครรภ์ตามนัด ( poor prenatal care )

                   1.3 ประวัติทางสูติกรรม ( obstetrics history )

                        1.3.1 ทำแท้ง ( criminal abortion ) หรือ แท้งเองโดยเฉพาะเมื่อครรภ์อยู่ในไตรมาสที่สอง ( previous second - trimester abortion )

                        1.3.2 ทารก มีความพิการแต่กำเนิด ( fetal abnormality ) ที่ทำให้ทารกโตช้ากว่าปกติ ( intrauterine growth retardation )

                        1.3.3 มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ( previous preterm delivery )

                        1.3.4 ความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก ( uterine or cervical anomalies ) เช่น bicornuate uterus

                        1.3.5 มดลูกถูกขยายโตมากกว่าปกติ ( overdistened uterus ) จากครรภ์แฝด ( Twins pregnancy ) หรือ ครรภ์แฝดน้ำ ( hydramnios )

                        1.3.6 ทารกตายในครรภ์หรือตายในวัยที่เป็นเด็กอ่อนหลังคลอด (stillbirth or neonatal death)

                        1.3.7 เกี่ยวกับรก รกที่เกาะผิดที่หรือมีรูปร่างผิดปกติ (faulty placentation ) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เช่น battledore  placenta, circumvallate placenta, รกเกาะต่ำ ( placenta previa ) และรกลอกตัวก่อนกำหนด (placental abruption )

        2. สาเหตุชักนำที่เกิดเนื่องจากการตั้งครรภ์หรือโรคมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการตั้งครรภ์ ( current pregnancy - associated risks )

            2.1การอักเสบติดเชื้อของไตและท่อไต ( renal disease )

            2.2 โรคเรื้อรังของสตรีตั้งครรภ์บางอย่าง หรือโรคที่เกิดเนื่องจากการตั้งครรภ์ ( medical or obstetric risks antedating pregnancy )

                        2.2.1 โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ( chronic hypertension )

                        2.2.2 ความดันโลหิตสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์ ( pregnancy induced hypertension )

                        2.2.3 โรคหืดหอบ ( asthma )

                        2.2.4 โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ( hyperthyroidism )

                        2.2.5 โรคหัวใจ ( heart disease )

                        2.2.6 โรคดีซ่าน ( jaundice )

                        2.2. 7 โรคโลหิตจาง ( anemia with Hg less than 9 gm/dl )

            2.3 เนื้อเยื่อปากมดลูกอ่นนุ่มผิดปกติ ( incompetent cervix ) ทำให้ปากมดลูกบางตัวและเปิดทั้งๆที่ไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก

               2.4 การเปลี่ยนแปลงของถุงน้ำคร่ำที่แตกหรือรั่วก่อนเวลาอันควร ( premature rupture of membranes ) พบได้ถึง 30 % ที่ทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ( Neal ,1992 :57 )

        3. สาเหตุเกี่ยวกับการรักษาที่ต้องมีการชักนำให้มีการคลอดก่อนกำหนด ( induction of labor )

        3.1 โรคของสตรีตั้งครรภ์ ( maternal disease ) หรือโรคของทารก ( fetal disease )

             3.1.1โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ (severe preeclampsia or eclampsia )

             3.1.2 ถุงน้ำคร่ำรั่วร่วมกับการติดเชื้อ ( amniotic fluid infection )

               3.1.3 ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ( fetal death )

        3.2   คำนวณอายุครรภ์ผิดพลาด ( missed gestational age )

        4. สาเหตุส่งเสริมอื่นๆ

        4.1 ห่วงอนามัยค้างอยู่ในโพรงมดลูก ( retained intrauterine device )

        4.2 การร่วมเพศ เป็นสาเหตุที่เชื่อว่าอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด จากการติดเชื้อในน้ำคร่ำ

            เพราะการร่วมเพศมีโอกาสทำให้เกิดทั้งๆ ที่ถุงน้ำคร่ำไม่รั่วหรือแตกใดๆ

    5. ไม่ทราบสาเหตุ ( no risk factors ) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของการคลอดก่อนกำหนดถึง ร้อยละ 50 ( Lizzi,1993 : 99 )

Top !


แนวทางการรักษา :

         การวินิจฉัยที่แน่นอน และ รวดเร็ว โดยเฝ้าสังเกตุภาวะการหดตัวของมดลูกเป็นเวลา อย่างน้อย 30-60 นาที และรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อรับการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจากการศึกษาถึงแนวทางการรักษานั้นได้เสนอแนวทางการรักษาไว้หลาย รูปแบบ สรุปรวบรวมได้ดังนี้

        1. ตรวจหาข้อห้ามสำหรับดำเนินการตั้งครรภ์ต่อ

        2. ในผู้ที่มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เมื่อสังเกตุภาวะการหดรัดตัวของมดลูกแล้ว สามารถแบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

            2.1 กลุ่มที่ไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก และไม่มีการบางตัว ของปากมดลูก ให้วินิจฉัยว่า ไม่ได้เจ็บครรภ์ ไม่มีการรักษาใดๆ

            2.2 กลุ่มที่มีการหดรัดตัวของมดลูก แต่ไม่มีการบางตัว ของปากมดลูก ให้วินิจฉัยว่า เป็นการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ให้นอนพักอย่างเพียงพอ และควร รักษาด้วยให้สารน้ำอย่างเพียงพอ ( hydration ) ได้ผลดีในบางรายโดยไม่ต้อง ใช้ ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก

            2.3 กลุ่มที่ไม่มีการหดรัดตัวของมดลูก แต่มีการบางตัว ของปากมดลูก ให้วินิจฉัยว่า เป็น Incompetent cervix รักษาด้วยวิธีการนอนพัก และพิจารณา การผ่าตัดโดยการเย็บผูกปากมดลูก

            2.4 กลุ่มที่มีการหดรัดตัวของมดลูก และมีการบางตัว ของปากมดลูก ให้การวินิจฉัยว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด รักษาโดยพิจารณาดังนี้

                2.4.1 ให้ยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ( Tocolytics agent )

                2.4.2 ถ้าไม่สามารถยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกได้ ก็ พิจารณาให้ยาที่ไป กระตุ้นให้ปอดสร้างสารsurfactant เพื่อลดการเกิดภาวะ RDS

                2.4.3 ดูแลการคลอดและทารกหลังคลอดเพื่อป้องกันภาวะขาดออกซิเจน

Top !


การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

( Tocolysis )

            การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นการระงับหรือยับยั้งการคลอดให้ มีการตั้งครรภ์ต่อไป จนกว่าอายุครรภ์จะครบกำหนดคลอดเท่ากับหรือมากกว่า37สัปดาห์ จากที่ได้ กล่าวไว้ว่า การคลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุของอัตราการตายคลอดและพิการของทารกแรกเกิด สูงถึง 75 - 85 % ( creasy,1994:535 ) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าประมาณ 10 % ของการคลอด ทั้งหมด ( Iams,1994: 539 )

            " การนอนพักผ่อน " อย่างเพียงพอ จะทำให้ลดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้เป็นอย่างดี ( Jensen,1985 : 1088 ; Creasy,1994 : 537 ) แต่ถ้าหากว่าการนอนพักไม่สามารถช่วยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจนครบกำหนดคลอด สูติแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้รับการรักษาด้วยยา โดยสามารถเลือกใช้ ได้หลายกลุ่มแต่จากการรวบรวมของ ธีระพร,2539 ได้นำเสนอไว้ มีดังต่อไปนี้

ยาสำหรับยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

( Tocolytic Agents )

            1. Beta-adrenergic receptor agonists (betasympathomimetic drugs)

                 ได้แก่ - Ritodrine (Yutopar )

                            - Terbutaline (Bricanyl )

                           - Fenoterol (Berotec  )

            2. Magnesium sulfate

            3. Antiprostaglandins หรือ prostaglandin synthetase inhibitors

            ได้แก่ - salicylate

                   - indomethacin

                   - naproxen

            4. Calcium channel blocking drugs เช่น nifedipine, verapamil

            5. ยาอื่น ๆ เช่น progesterone, ethanol, diazoxide เป็นต้น

                จากการศึกษาในครั้งนี้จะขอกล่าวถึง รายละเอียดของ ยาในกลุ่ม Beta - adrenergic receptor agonists เท่านั้นเพราะเป็นกลุ่มยาที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วไป ในยุโรป และสหราชอาณาจักร รวมทั้งประเทศไทยด้วย Beta-adrenergic receptor agonists การใช้ยาในกลุ่มนี้เป็น beta 2 agonist แต่ก็มีฤทธิ์ส่วนหนึ่งต่อ beta 1 receptor ด้วย การรู้จักตำแหน่งของ receptors จะช่วยให้ทราบผลข้างเคียงของยา และข้อห้ามในการใช้ยาด้วย

                1. Beta 1 receptors มีที่

                    - หัวใจ : ยาจะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น การบีบตัวแรงขึ้น

                    - ลำไส้ : ยาทำให้ลำไส้คลายตัว อาจจะท้องอืดได้ง่าย

                    - เนื้อเยื่อ ไขมัน : ยากระตุ้นการสลายไขมัน (lipolysis) ทำให้ free fatty acids และ glycerol สูงขึ้น

                2. Beta 2 receptors มีที่

                    - มดลูก : ยาทำให้มดลูกคลายตัว

                    - กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม : ยาทำให้หลอดลมขยายตัว

                    - กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด : ยาทำให้หลอดเลือดขยายตัว

                    - ตับและกล้ามเนื้อ : ยาทำให้เกิด glycogenolysis ระงับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ จะไปออกฤทธิ์ที่ beta-adrenergic receptors ที่ผิวด้านนอกของ cell membranes ของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก แล้วกระตุ้น adrenylcyclase enzyme ไปเปลี่ยน ATP เป็น cyclic AMP เพิ่มขึ้น ชึ่ง c-AMP นี้ จะทำให้ระดับของ calcium ภายในเซลล์ลดลง จะยับยั้งการทำงานของ myosin light chain kinase (MLK) ทำให้ actomyosin-P ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติในการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวลง เป็นผลให้มดลูกคลายตัวลงไปด้วย

ผลข้างเคียง :

        1. Metabolic side effects ได้แก่

                - Hyperglycemia ทำให้การควบคุมเบาหวานยากขึ้น ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ขึ้นด้วย ทำให้หลั่ง insulin มากขึ้น ถ้าทารกคลอดในขณะที่ให้ยาหรือภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากหยุดยา จะเกิด hypoglycemia ได้ง่าย เนื่องจากระดับ insulin ในเลือด ยังสูงอยู่หลังคลอด

                - Hypokalemia เนื่องจากยาทำให้ K+ shift จากนอกเซลล์เข้าไปอยู่ภายในเซลล์

                - Lactic & ketoacidosis

        2. ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือด

                - หัวใจ เต้นเร็ว มักไม่เกิน 140 ครั้งต่อนาที

                - ความดันโลหิตต่ำ

                - เจ็บแน่นหน้าอก

                - หัวใจเต้นผิดจังหวะ

                - หัวใจวายและปอดบวมน้ำ

        3. ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ตัวสั่นมือสั่น มีไข้

Top !


แนวทางการดูแลในระยะเจ็บครรภ์และระยะคลอด

            ผู้ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดควรให้คลอดในสถานพยาบาลที่สามารถให้ การดูแลทารกแรกคลอดก่อนกำหนดได้ดี กรณีไม่พร้อมควรส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ สามารถให้การดูแลรักษาทารกได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องให้การดูแลดังนี้

        1. ควรตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารก และการหดตัวของมดลูก โดยทำ continuous electronic fetal heart rate monitoring & external tocography ถ้าทำไม่ได้ควรตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกบ่อย ๆ โดยฟังจากภายนอก ถ้าหัวใจเต้นเร็วและมีน้ำเดินมาก่อน ให้สงสัยภาวะติดเชื้อถ้าหัวใจเต้นช้าลงเป็นระยะ ๆ ( periodic decelerations)ให้สงสัย cord compression ซึ่งพบได้บ่อยในภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด จากการสูญเสียน้ำคร่ำ ส่วน late deceleration อาจเกิดขึ้นจากภาวะที่รกขาดเลือดมาเลี้ยง( placental insufficiency)

        2. ระวังการใช้ยาแก้ปวดและยานอนหลับในขณะเจ็บครรภ์ เพราะอาจกดการหายใจต่อทารกหลังคลอด

        3. ลดความกระทบกระเทือนต่อทารกในขณะคลอด โดยตัดฝีเย็บ( episiotomy ) กว้าง ๆ ถ้าเป็นไปได้ ควรให้ผู้คลอดช่วยเบ่งคลอดทารกตามธรรมชาติ ถ้าแรงเบ่งไม่พอจึงค่อยช่วยคลอดด้วยคีมช่วยคลอด ( Prophylactic Forceps ) และควรให้ยาชาระงับความรู้สึกเจ็บปวด โดยวิธี Pudendal Nerve Block ไว้ด้วย

        4. พิจารณาให้การผ่าตัดคลอดทารกทางหน้าท้อง ได้แก่

            - ทารกอยู่ในภาวะอันตราย ( fetal distress )

            - ทารกท่าก้น อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์

            - ทารกท่าขวาง หรือ ท่าเฉียง

            - ข้อ บ่งชี้อื่น ๆ ทางสูติศาสตร์ เช่น รกเกาะต่ำ การเจ็บครรภ์คลอดเนิ่นนาน เป็นต้น

        5. ขณะคลอดควรมีกุมารแพทย์เตรียมพร้อม ที่จะให้ความช่วยเหลือทารกได้ทันท่วงที

        6. ทารกที่คลอดออกมาขณะที่มารดาได้รับยายับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ทางหลอดเลือดดำควรระวังผลเสียของยาต่อทารกไว้ด้วย เช่น ความดันโลหิตต่ำ ,น้ำตาลและแคลเซียมในโลหิตต่ำ เป็นต้น

        7. เพิ่มการดูแล ในด้านฉุกเฉินไว้ให้พร้อม ( Resuscitation & Intensive neonatal care )

Top !


การพยาบาลสตรีตั้งครรภ์ที่มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

             สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดนั้น หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ดีตั้งแต่เริ่มมีอาการ ในระยะที่ปากมดลูกยังเปิดไม่มาก การรักษาพยาบาลย่อมเป็นไปได้ไม่ดีนัก พยาบาลและ / หรือบุคลากรทางการพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ให้การดูแลสตรีตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด จึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจนครบกำหนดคลอด ในที่นี้ ขอจำแนกบทบาทของพยาบาลและ/หรือบุคลากรในทีมสุขภาพ ซึ่งให้การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา โดยหลักการพยาบาลต้องดำเนินการตามแผนการรักษา มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

               1. เพื่อช่วยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจนครบกำหนดคลอด

               2. เพื่อลดอุบัติการณ์ การตายและทุพพลภาพของทารกแรกเกิด

       ซึ่งขอจำแนกบทบาทของพยาบาลและ / หรือบุคลากรในทีมสุขภาพ ไว้ 3 ระยะ ดังนี้

               1. บทบาทก่อนให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา

               2. บทบาทขณะให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา

               3. บทบาทหลังให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา

  บทบาทก่อนให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา

            พยาบาลและบุคลากร ในทีมสุขภาพ เป็นผู้ที่ต้องให้การดูแลสตรีตั้งครรภ์ เพื่อให้การดูแลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงควรทราบถึงหลักการดูแลได้เป็นอย่างดี

                1. ควรเตรียมตัวและมีความพร้อมในเรื่องต่อไปนี้

                        1.1 ต้องมีความรู้เกี่ยวกับความหมาย วิธีการยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ข้อบ่งชี้ในการกระทำ ข้อห้าม วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดจนอันตรายหรือ ภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้การพยาบาลได้ถูกต้องเหมาะสม

                        1.2 ต้องมีความรู้เกี่ยวกับ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว

                        1.3 ต้องเป็น ผู้มีความคล่องแคล่วฉับไว มีปฏิภาณ ไหวพริบดี สามารถแก้ไข ปัญหาและสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้อย่างสุขุม เยือกเย็นไม่ตกใจง่าย

                        1.4 สามารถเตรียมยาได้ถูกต้องตามแผนการรักษา รู้วิธีใช้และฤทธิ์ข้างเคียงของยาแต่ละชนิดเป็นอย่างดี

            2. จำเป็นต้องประเมินสภาพของสตรีตั้งครรภ์และทารกเพื่อดูความพร้อม ภาวะผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนอันจะก่อให้เกิดอันตราย

                        2.1 ด้านร่างกาย ประเมินจากกการซักประวัติ การตรวจร่างกายของสตรีตั้งครรภ์และประเมินสภาพของทารกในครรภ์

                                2.1.1 การซักประวัติและรายงานการฝากครรภ์ของผู้คลอด ได้แก่

                                           - ประวัติความเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน

                                           - ประวัติ การตั้งครรภ์และการคลอดในอดีต

                                           - ประวัติการตั้งครรภ์ในปัจจุบันอาการผิดปกติต่าง ๆ รวมทั้ง ประวัติประจำเดือนและกำหนดการคลอด

                                           - ผลการตรวจเลือดและปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ และ/หรือ การตรวจ พิเศษทางสูติกรรมต่าง ๆ เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ( Ultrasonography )

                                2.1.2 การตรวจร่างกายของสตรีตั้งครรภ์ ได้แก่

                                           - การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง

                                          - สัญญาณชีพ

                                          - อาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการบวม ซีด เป็นต้น

                                          - ตรวจครรภ์เพื่อดูท่าของทารก สังเกตระยะเวลาหดรัดตัวของมดลูกและ ความตึงตัวของมดลูก (Contraction Severity)

                                          - สังเกตสิ่งที่ออกมาทางช่องคลอด เช่น น้ำคร่ำ มูก มูกเลือด และ บันทึกเกี่ยวกับ ลักษณะ สี กลิ่นและปริมาณ

                                          - ตรวจทางช่องคลอดเมื่อแรกรับเพื่อประเมินสภาพปากมดลูก

                                2.1.3 การประเมินสภาพทารกในครรภ์ ประเมินจาก

                                          - การวัดส่วนสูงของมดลูกเพื่อประเมินความเจริญเติบโตของ ทารกในครรภ์

                                          - การตรวจท่า ของทารกและการฟังเสียงหัวใจ นับอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อประเมินว่าทารกครรภ์อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่

                        2.2 การประเมินสภาวะจิตใจของสตรีตั้งครรภ์ สิ่งที่ต้องประเมิน ได้แก่

                      - ทัศนคติต่อการตั้งครรภ์และการเจ็บครรภ์คลอดครั้งนี้

                      - ความกลัวและความวิตกกังวลของสตรีตั้งครรภ์ต่อการคลอด

                    - ความสามารถในการเผชิญและแก้ไขปัญหาของสตรีตั้งครรภ์

                    - แหล่งช่วยเหลือของสตรีตั้งครรภ์

                    - ระดับความรู้ ความเข้าใจของสตรีตั้งครรภ์

                    - ระดับความอดทนและร่วมมือของสตรีตั้งครรภ์กับบุคลากรทางการแพทย์ การประเมินจิตใจ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนให้การประคับประคองด้านจิตใจ ได้ตรงตามต้องการและเพื่อความร่วมมือในการยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

บทบาทขณะให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา

            ขณะให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยานั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสตรีตั้งครรภ์ก็คือพยาบาลและ / หรือ บุคลากรทางการพยาบาล จึงควรมีการดูแลที่ดีดังนี้

           1. ก่อนจะการพยาบาลใด ๆ พยาบาลต้องอธิบายให้สตรีตั้งครรภ์ทราบถึงเหตุผลในการให้การพยาบาลนั้น ๆ วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ โดยสังเขป เพื่อให้มีความพร้อมด้านจิตใจและเพื่อความร่วมมือในการปฏิบัติ

           2. การเตรียมร่างกาย เพื่อทำการยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดย

                2.1 การเตรียมความสะอาดของร่างกาย ทั่วไปเพื่อความสะดวกในการสังเกตอาการ เปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

                2.2 ให้ปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่างลดการคั่งค้างของปัสสาวะ ช่วยให้มีการพักผ่อนได้มากขึ้น จากการต้องปัสสาวะบ่อยครั้ง

                2.3 การเตรียมความสะอาดเฉพาะที่ เช่น บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์

           3. จัดสภาพแวดล้อมให้สตรีตั้งครรภ์รู้สึกผ่อนคลาย โดยให้เงียบสงบ สะอาด อากาศปลอดโปร่ง เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล

           4. ดูแลให้นอนพักในท่านอนตะแคง ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อช่วยลดแรงดันต่อมดลูก และเพิ่มปริมาณเลือดมาเลี้ยงมดลูก

           5. การเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและปราศจากเชื้อ

           6. ดูแลให้การพยาบาลตามแผนการรักษา เช่นการจองเลือดการงดอาหาร และน้ำทางปาก

           7. ดูแลให้ได้รับยายับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด รวมทั้งยาสเตอรอยด์ ตามแผนการรักษา ให้ได้รับตามขนาด วิธีการ เวลาที่ถูกต้อง รวมทั้งอธิบายให้ทราบถึงผลและฤทธิ์ข้างเคียงของการรับยา

           8. เฝ้าสังเกตอาการ เปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

                 8.1 ประเมินการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกความแรง ระยะเวลา และความถี่ห่าง 1 - 2 ครั้ง ต่อ ชั่วโมง

                 8.2 ตรวจนับอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ 1 - 2 ครั้ง ต่อ ชั่วโมง

                 8.3 ตรวจภายในเพื่อประเมินสภาวะปากมดลูก แต่ไม่ตรวจหรือกระตุ้นบ่อยครั้ง

                 8.4 ตรวจวัดสัญญาณชีพ ทุก 1 - 2 ชั่วโมง หาก ชีพจรมากกว่า 120 ครั้ง ต่อ นาที ควรพิจารณาลดขนาดของยาลง หรือ หยุดการระงับการเจ็บครรภ์และการคลอด

           9. ดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ตรวจเยี่ยมอาการ สอบถามความรู้สึก และเปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึกเพื่อคลายความวิตกกังวลสร้างความหวังและลดความวิตกกังวล

           10. ให้กำลังใจและคำแนะนำการปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง ขณะรับการยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยใช้ยาตามแผนการรักษา

           11. ดูแลช่วยเหลือในการดูแลสุขภาพ และความสะอาดของร่างกาย ทั่วไป

           12. ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอด ก่อนกำหนดที่ไม่อาจยับยั้งได้

                 12.1 การเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น เข้าสู่ระยะ Active phase ปากมดลูกเปิดมากกว่า 4 ซม

                 12.2 ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนครบกำหนดคลอด

                 12.3 มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ควรให้คลอด เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง

                 12.4 มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทางสูติศาสตร์ ที่ควรให้คลอด เช่น ภาวะรกลอก ตัวก่อนกำหนด อันจะเป็นอันตรายต่อสตรีตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์

                 12.5 มีความผิดปกติของทารก เช่น พิการ หรือ เสียชีวิต ในครรภ์

บทบาทหลังให้การยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา

            เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยยา ดังนั้นพยาบาลและบุคลากรทางการพยาบาลต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ดังนี้

            1. สังเกตอาการของสตรีตั้งครรภ์ ตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจรและการหายใจทุก 1 - 2 ชั่วโมง จนกว่าสัญญาณชีพจะอยู่ในระดับปกติและคงที่

            2. ตรวจดูการทำงานของมดลูกโดยเฝ้าสังเกตุการหดรัดตัวของมดลูกว่า หดรัดตัวอีกหรือไม่เพื่อป้องกันและประเมินภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอีก หลังการรักษาด้วยยายับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

            3. เฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด สอบถามปัญหาและรับฟังปัญหา ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา

            4. ประเมินและสังเกตอาการของทารกในครรภ์ ต้องฟังเสียงหัวใจของทารกเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน ( Fetal hypoxia ) จะได้ให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

            5. ประเมินและสังเกตอาการ ข้างเคียงจากการรับการรักษา ที่พบบ่อยคือ มือสั่น ใจสั่น และอาการกระวนกระวาย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อลดขนาดยา หรือหยุดให้การยับยั้งในการเจ็บครรภ์และการคลอดโดยให้ยาทางหลอดโลหิตดำ

            6. ดูแลความสุขสบายทั่วไป ในเรื่องความสะอาดของร่างกาย อาหารและ น้ำตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวภายหลัง รับการรักษาด้วยยายับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

Top !


แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน

( Gordon’s Functional Health Pattern )

        โรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้ใช้แนวทางการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยใช้แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน ( Gordon’s Functional Health Pattern ) เป็นกรอบแนวคิดหลัก ในการดูแลสตรีตั้งครรภ์ซึ่งเป็นการดูแลอย่างเป็นองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคมและเศรษฐกิจ ครอบคลุมการรับรู้ภาวะความเจ็บป่วยและความร่วมมือในการดูแลสุขภาพตนเอง

Care Map

ตัวอย่างแบบบันทึก  ( อยู่ระหว่างการปรับปรุง )

Top !


* So sorry if you cannot read Thai font, Thank you.Thank you !